วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันวิสาขบูชา



วันวิสาขบูชา หรือ วิสาขบูชา เป็น "วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล" ของชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก, วันหยุดราชการ ในหลายประเทศ และ วันสำคัญของโลก ตามมติเอกฉันท์ของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์นั้นได้เกิดตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขมาส (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง จึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก"วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน โดยในประเทศไทย ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7
วันวิสาขบูชานั้น ได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาละพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาละพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน

วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ
วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระศาสดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้ และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และได้กำหนดวันวิสาขบูชานี้ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา โดยการที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน

การประกอบพิธีใน วันวิสาขบูชา
การประกอบพิธีใน วันวิสาขบูชา จะแบ่งออกเป็น 3 พิธี ได้แก่

1. พิธีหลวง คือ พระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบในวันวิสาขบูชา
2. พิธีราษฎร์ คือ พิธีของประชาชนทั่วไป
3. พิธีของพระสงฆ์ คือ พิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจ

กิจกรรมใน วันวิสาขบูชา
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติใน วันวิสาขบูชา ได้แก่

1. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร
2. จัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด และปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3. ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล
4. ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
5. ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
6. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อให้ความรู้
และเป็นการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา
7. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ
8. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์

วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์สากล

การแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์สากล การแบ่งสมัยทางประวัติศาสตร์ การศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทย สามารถแบ่งช่วงในการศึกษาได้เป็น 2 ช่วง ได้แก่ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์
1) สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แบ่งเป็น ยุคหินและยุคโลหะ
2) สมัยประวัติศาสตร์ แบ่งเป็น สมัยโบราณ สมัยกลาง สมัยใหม่ และสมัยปัจจุบัน


ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยทั่วไปหมายถึงช่วงเวลาที่ไม่มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ โดยมนุษย์ (ในบางครั้งหมายถึง ช่วงเวลาก่อนมีอารยธรรมมนุษย์)แบ่งเป็น ยุคหิน (Stone Age) แบ่งออกเป็นยุคย่อยๆ 3 ยุค คือ ยุคหินเก่า ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่
ยุคหิน (Stone Age) หมายถึง ช่วงเวลาสมัยบรรพบุรุษมนุษย์สร้างเครื่องมือจากหิน ไม้ และกระดูก หรือวัสดุอื่น ๆ เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต โดยมีหินลักษณะเฉพาะที่ใช้ในการตัดสิ่งของต่าง ๆ ที่เรียกว่าฟลินต์ (flint)
ยุคหินเก่า (Paleolithic Period หรือ Old Stone Age) ประมาณ 500,000 ปีล่วงมาแล้ว มนุษย์ในยุคนี้เริ่มทำเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยหินอย่างง่ายก่อน










ยุคหินกลาง (Mesolihic Period หรือ Middle Stone Age) เป็นช่วงเวลาระหว่างยุคหินเก่ากับยุคหินใหม่ ในช่วงเวลาประมาณ 10,000 - 5,000 ปีที่แล้ว เป็นเวลาที่มนุษย์ในช่วงเวลานี้เริ่มมีการนำวัสดุธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำตะกร้าสาน ทำรถลาก และเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหินก็มีความประณีตมากขึ้น ตลอดจนรู้จักนำสุนัขมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง


ยุคหินใหม่ ( Neolihic Period หรือ New Stone Age) โดยอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 5,000 - 2,000 ปีที่แล้ว โดยเป็นช่วงเวลาระหว่างยุคหินกลางกับยุคโลหะซึ่งมนุษย์ในยุคนี้อาศัยรวมกันอยู่เป็นหมู่บ้าน ดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์จากสังคมล่าสัตว์มาเป็นสังคมเกษตรกรรม ที่ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง มีการสร้างที่พักอาศัยถาวรเป็นกระท่อมดินเหนียวและตั้งหลักแหล่งตามบริเวณลุ่มน้ำ ยุคหินใหม่เป็นยุคเกษตรกรรม
ยุคโลหะ โลหะชนิดแรกที่มนุษย์รู้จักนำมาหลอมเป็นเครื่องมือเครื่องใช้คือทองแดงปรากฏหลักฐานในบริเวณลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรทิสนำทองแดงมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เมื่อประมาณ 4,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช
ยุคโลหะ (Metal Age) แบ่งออกเป็น 3 ยุคย่อยคือ ยุคทองแดงปนหิน ยุคสำริด และยุคเหล็ก






การแบ่งยุคสมัยในประวัติศาสตร์ยุโรปความนิยมในการแบ่งยุคสมัยของประวัติศาสตร์ยุโรปมักแบ่งเป็น 3 สมัย ได้แก่
สมัยโบราณ (Ancient History)
สมัยกลาง (Medieval History)
สมัยใหม่ (Modern History)


สมัยโบราณ เริ่มประมาณ 3,500 ปีก่อนค.ศ. เมื่อมนุษย์ประดิษฐ์อักษรถึง ค.ศ.476 เมื่อจักรวรรดิโรมันสิ้นสุดเพราะการรุกรานของพวกอนารยชนเยอรมัน


-สมัยกลาง เริ่มค.ศ.476 หลังสิ้นสุดจักรววรดิโรมัน จนถึงค.ศ.1492 เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบทวีปอเมริกา

-สมัยใหม่ เริ่มจากค.ศ.1492 เมื่อยุโรปขยายอำนาจและอิทธิพลไปยังส่วนต่างๆของโลก ทำให้มีผลต่อความเจริญของโลกสมัยใหม่ จนถึงค.ศ.1945 เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

-สมัยปัจจุบันหรือร่วมสมัย เริ่มจากค.ศ.1945 จนถึงเหตุการณ์และความเจริญปัจจุบัน มีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน


การกำหนดเวลาเริ่มต้นของแต่ละสมัยสมัยนั้นยังไม่เป็นที่ยุติ เช่น นักประวัติศาสตร์บางท่านถือเอาว่าประวัติศาสตร์สมัยกลางเริ่มต้นใน ค.ศ. 284 อันเป็นปีที่จักรพรรดิไดโอคลิเซียน (Diocletian) ขึ้นครองราชย์ แต่บางท่านก็เห็นว่าควรเริ่มต้นใน ค.ศ. 476 ปีที่อาณาจักรโรมันตะวันตกล่มสลายลง เป็นต้น
การแบ่งยุคสมัยในประวัติศาสตร์ไทยในอดีตการจัดแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ของไทยนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงพระทัศนะไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง "ตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร" ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเมื่อ พ.ศ. 2457 ถึงการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของไทยไว้ว่า "เรื่องพระราชพงศาวดารสยาม ควรจัดแบ่งเป็น 3 ยุค คือ เมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานียุค 1 เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานียุค 1 เมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานียุค 1"
ส่วน ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์เสนอถึงหัวข้อสำคัญที่ควรเป็นแกนกลางของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยไว้ 8 หัวข้อ ดังนี้
การตั้งถิ่นฐานของผู้คน นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น
การเข้ามาของอารยธรรมใหญ่ คืออินเดียและจีน
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ 13


ยุคสมัยของการค้า (คริสต์ศตวรรษที่ 15-17)
ประเทศไทยก่อนสมัยใหม่
รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม
การปฏิวัติ 2475 และกำเนิดรัฐประชาชาติในทางทฤษฎี
การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516
ส่วนใหญ่ยึดถือหลักเกณฑ์ของประวัติศาสตร์สากล แบ่งเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไทย และสมัยประวัติศาสตร์ไทย โดยแบ่งตามนี้
-สมัยโบราณหรือสมัยก่อนสุโขทัย ตั้งแต่พ.ศ.1180 ถึง พ.ศ.1792
-สมัยสุโขทัย ตั้งแต่พ.ศ.1792 ถึง พ.ศ.2006
-สมัยอยุธยา ตั้งแต่พ.ศ.1893 ถึง พ.ศ.2310
-สมัยธนบุรี ตั้งแต่พ.ศ.2310 ถึง พ.ศ.2325
-สมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่พ.ศ.2325 ถึงปัจจุบัน


การนับและเทียบศักราชสากลและไทย

1.การนับศักราชสากลที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันคือ คริสต์ศักราช ซึ่งเป็นศักราชของคริสต์ศาสนา เริ่มนับเมื่อพระเยซู(ประสูติ) ซึ่งเป็นศาสนาของคริสต์ศาสนาประสูติ นับเป็นคริสต์ศักราช 1 (ค.ศ.1) หรือ A.D.1 ย่อมาจากคำว่า “Anno Domini”
2.การนับศักราชไทย ที่ใช้กันปัจจุบัน คือพุทธศักราช ซึ่งเป็นศักราชของพระพุทธศาสนา คือ พ.ศ.1 หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว 1 ปี คือ ปีแรกนับเป็นพ.ศ.๐ เมื่อครบ 1 ปี จึงเริ่มนับ พ.ศ.1
นอกจากนับศักราชเป็นแบบ พ.ศ. แล้ว ในเมืองไทยยังมีการนับศักราชแบบอื่น ๆ ด้วย คือ รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) จุลศักราช (จ.ศ.) มหาศักราช (ม.ศ.) มีเกณฑ์การเทียบดังนี้
ร.ศ. + ๒๓๒๔ = พ.ศ.

พ.ศ. - ๒๓๒๔ = ร.ศ.

จ.ศ. + ๑๑๘๑ = พ.ศ.

พ.ศ. - ๑๑๘๑ = จ.ศ.

ม.ศ. + ๖๒๑ = พ.ศ.

พ.ศ. - ๖๒๑ = ม.ศ.

หลักเกณฑ์การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์
การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์สากล
- แบ่งต่ามความเจริญทางอารยธรรมของมนุษย์
- แบ่งตามการเริ่มต้นของเหตุการณ์สำคัญ
- แบ่งตามชื่อจักรวรรดิ หรืออาณาจักรที่สำคัญที่เคยรุ่งเรือง
- แบ่งตามราชวงศ์ที่ปกครองประเทศ
- แบ่งตามการตั้งเมืองหลวง