หน่วยการเรียนรู้ที่1 ประวัติศาสตร์ไทย

ภูมิปัญญาไทย

ภูมิปัญญาไทย หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ความชาญฉลาด ทักษะและเทคนิค อันเกิดจากพื้นความรู้ที่ผ่านกระบวนการสืบทอด เลือกสรร ปรับปรุง พัฒนา การสร้างงาน ด้วยประสบการณ์ที่สะสมมาเป็นเวลานานอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับยุคสมัย


ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ที่เป็นของท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง


ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความรู้ของชาวบ้านที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์และความเฉลียวฉลาดของแต่ละคน ซึ่งเกิดการเรียนรู้จากคนในครอบครัว ญาติ พี่น้อง และผู้นำของชุมชน ลักษณะความรู้ที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และธรรมชาติ สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน ระหว่างการสืบทอดมีการปรับปรุงและพัฒนาจนเกิดเป็นความรู้ใหม่ตามสภาพของสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม



ความสำคัญและคุณค่าของภูมิปัญญาไทย

  • ภูมิปัญญาไทยแสดงให้เห็นถึงการอนุรักษ์ที่ดีงาม ทั้งจารีตประเพณี วัฒนธรรม และการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างมีคุณค่า เช่น การนวดแผนไทย สมุนไพรไทย
  • ภูมิปัญญาไทยก่อให้เกิดการคิดริเริ่มสร้างสรรค์คุณค่าทางสังคมใหม่ ทั้งในสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม เช่น ภูมิปัญญาการบวชป่าไม้
  • ภูมิปัญญาไทยก่อให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การแปรรูป และการสร้างอาชีพใหม่ เช่น ผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
  • ภูมิปัญญาไทยก่อให้เกิดเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น การทำปลาตะเพียนด้วยใบลานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การทำขนมหม้อแกงของจังหวัดเพชรบุรี
  • ภูมิปัญญาไทยก่อให้เกิดศิลปะของชาติ ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้สร้างสรรค์งานศิลปะไว้มาก ทำให้ประเทศไทยมีศิลปะเป็นของตนเอง ที่แสดงออกถึงความเป็นอารยธรรมของชาติ เช่น จิตรกรรมลายไทย ศิลปะการต่อสู้มวยไทย การฟ้อนรำ เครื่องดนตรีไทย
  • ภูมิปัญญาไทยได้เสริมสร้างความสงบสุขในการดำรงชีวิต โดยสามารถนำมาปรับปรุงอุปนิสัยที่มีความโดดเด่นของคนไทย เช่น ยิ้มสยาม ความมีน้ำใจ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การรักความสงบ ความขยันและความอดทน
  • ภูมิปัญญาไทยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมได้ เนื่องจากได้รับการยอมรับและยกย่องจากชาวต่างชาติว่ามีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม มีความสอดคล้องกับการรักษาคุณค่าทางธรรมชาติ เช่น ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์
  • ภูมิปัญญาไทยสามารถสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง เพราะภูมิปัญญาและวัฒนธรรมช่วยสร้างควมสามัคคีในหมู่คณะ
  • ภูมิปัญญาไทยสามารถเสริมสร้างให้คนไทยเกิดความภาคภูมิใจ ในศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิในความเป็นไทย
  • ภูมิปัญญาไทยสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงวิถีชีวิตของคนไทยให้เกิดการดำรงชีวิตได้ตามยุคสมัย
คุณค่าและความสำคัญของภูมิปัญญาไทยดังกล่าว จะเห็นได้ว่าภูมิปัญญาไทยที่บรรพบุรุษได้สั่งสมความรู้ ประสบการณ์ แล้วถ่ายทอดมาสู่คนรุ่นหลังนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่า สมควรที่ชาวไทยทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการศึกษา อนุรักษ์ และเผยแพร่ภูมิปัญญาไทยให้อยู่คู่กับคนไทย เป็นประจักษ์ต่อสายตาของชาวโลกต่อไป



ประเภทของภูมิปัญญาไทย
  • ภูมิปัญญาด้านคติธรรม ความคิด ความเชื่อ หลักการที่เป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ที่เกิดจากการถ่ายทอดต่อกันมา
  • ภูมิปัญญาด้านศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา
  • ภูมิปัญญาด้านการประกอบอาชีพในท้องถิ่น ที่ยึดหลักการพึ่งพาตนเองและได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมกับกาลสมัย
  • ภูมิปัญญาด้านแนวความคิด หลักปฏิบัติ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ชาวบ้านนำมาดัดแปลงใช้ในชุมชนอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่



ที่มา : อาจารย์เสาวลักษณ์ แสงสุรินทร์
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ภูมิปัญญาไทย